Tag Archives: Coins

วิธีการแลกเงินติดตัวเดินทางเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ


นักเรียน นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนเงินประเภทต่างๆได้หลากหลายวิธี เพื่อนำเงินติดตัวเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ ขอให้นักศึกษาอ่านและทำความเข้าใจวิธีการแลกเปลี่ยนเงินทั้ง 5 วิธีก่อนการตัดสินใจ หลายคนนำวิธีการนำเงินติดตัวเดินทางไปใช้ทั้ง 5 วิธี บางท่านเลือกเอาไปใช้เป็นบางวิธี บางท่านใช้บริการทางการเงินของธนาคารในต่างประเทศด้วยเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียมระหว่างประเทศ วิธีการที่นักศึกษานิยมนำเงินติดตัวเดินทางไปต่างประเทศมีดังนี้ คือ

1. ดราฟท์ธนาคาร (Bank Draft) เป็นตราสารการเงินประเภทตั๋วแลกเงิน ที่ธนาคารเป็นผู้ออก ระบุชื่อผู้เดินทางและจำนวนเงิน หรืออาจระบุชื่อมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าลงทะเบียนเรียน หรือนำไปเปิดบัญชีกับธนาคารในต่างประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ ตราสารประเภทนี้ต้องนำไปเข้าบัญชีธนาคารที่เปิดในต่างประเทศก่อน โดยใช้เวลารอขึ้นเป็นเงินสดประมาณ 1-15 วัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารนั้นๆ ถ้าต้องการรับเป็นเงินสดทันที ให้ลองติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศถึงความเป็นไปได้ที่จะนำดราฟท์ไปขึ้นเงินสดกับธนาคารที่สั่งจ่ายตราสารนี้

หมายเหตุ ผู้อื่นนำดราฟท์ไปใช้ไม่ได้ เพราะดราฟท์ระบุชื่อผู้รับเงินว่าเป็นใคร

หากดราฟท์สูญหาย นักศึกษาสามารถขอให้ธนาคาร (ในประเทศไทย) ที่นักศึกษาไปติดต่อเรื่องซื้อดราฟท์ไว้ออกฉบับใหม่ทดแทนได้ โดยผู้ซื้อต้องแสดงสำเนาการซื้อดราฟท์ และใบแจ้งความต่อธนาคาร ดังนั้นผู้ปกครองควรเป็นผู้ซื้อดราฟท์แทนนักศึกษา เพื่อจะได้ดำเนินการแทนนักศึกษาได้ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น  กรณีที่นักศึกษาเป็นผู้ชื้อดราฟท์และดราฟท์เกิดการสูญหาย ขณะนั้นนักศึกษายังอยู่ที่ต่างประเทศ ให้นักศึกษาทำหนังสือมอบฉันทะส่งให้ผู้ปกครองดำเนินการขอระงับการจ่ายเงินจากดราฟท์ใบเก่า ค่าธรรมเนียมในการระงับการจ่ายเงินขึ้นอยูกับธนาคารพาณิชย์ที่นักศึกษาซื้อดราฟท์ใบนั้น เช่น ธนาคารอาจจะเรียกเก็บค่าบริการโดยประมาณ 1,000 บาท เป็นต้น

หลังจากระงับการจ่ายเงินให้ผู้ที่จะมาขึ้นเงินจากดราฟท์ คนที่ทำเรื่องระงับดังกล่าวในประเทศไทยจะได้รับเงินสดคืนเป็นเงินไทยจากธนาคาร หากต้องการได้ดราฟท์ใบใหม่ ให้นำเงินไทยเท่านั้นไปซื้อดราฟท์ใบใหม่อีกได้ ผู้ปกครองควรมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนักศึกษาเก็บไว้ที่เมืองไทยด้วย (หรือจะปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการใช้บริการซื้อดราฟท์ว่า  กรณีนักศึกษาทำดราฟท์หาย ธนาคารนั้นๆในประเทศไทยต้องการดูหลักฐานบัตรประชาชนตัวจริงหรือสำเนาบัตรประชาชนของนักศึกษา)

หมายเหตุ ค่าธรรมเนียมการซื้อดราฟท์ขึ้นอยู่กับสกุลเงินและธนาคารที่ออกตราสารนั้นๆ ส่วนใหญ่ค่าธรรมเนียมการออกดราฟท์ของธนาคารต่างๆจะอยู่ระหว่าง 200-500 บาท บวกกับ ค่าอากรแสตมป์อีก 3 บาทต่อการซื้อดราฟท์ 1 ใบ นักศึกษาสามารถหาดูตัวอย่างดราฟท์ของธนาคารต่างๆได้จาก Google

2. เช็คเดินทางต่างประเทศ (Traveller’s Check) ตราสารการเงินประเภทนี้มีหลายราคาและหลายสกุลเงิน เช่น US Dollar, Japanese Yen, Euro  บางสกุล เช่น ไม่มีเช็คเดินทางต่างประเทศสกุลเงินปอนด์ขาย เช็คเดินทางผลิตโดยบริษัทการเงินหลายแห่ง เช่น American Express, Citibank, Thomas Cook เป็นต้น ผู้เดินทางสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ที่ไปติดต่อซื้อเช็คเดินทางว่า หากจะเดินทางไปประเทศนี้ ควรซื้อเช็คเดินทางของบริษัทใด

เช็คเดินทางสามารถใช้ได้เหมือนเงินสด และปลอดภัยในการนำติดตัวเดินทาง เวลาซื้อผูู้ซื้อต้องเซ็นชื่อบนเช็คต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคารหนึ่งชื่อ  และเวลาจะนำเช็คเดินทางไปใช้ จะต้องเซ็นชื่อกำกับอีกหนึ่งชื่อ พร้อมแสดงหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวนักศึกษาประกอบ โดยลายเซ็นทั้งสองครั้ง ต้องเหมือนกับลายเซ็นที่ปรากฏอยู่บนหนังสือเดินทาง ปกติธนาคารคิดค่าธรรมเนียม 1% ของมูลค่าเช็คเดินทาง และค่าอากรจากผู้ซื้อราคา 3 บาทต่อเช็คเดินทาง 1 ใบ ตราสารประเภทนี้ หากสูญหาย บริษัทเช็คเดินทางนั้นๆสามารถออกเช็คเดินทางใบใหม่ทดแทนได้ โดยผู้ถือเช็คเดินทางต้องแจ้งบริษัทเช็คเดินทาง เพื่อระงับการเบิกจ่ายเช็คเดินทางใบนั้นทันทีก่อน โดยเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วนำใบแจ้งความไปติดต่อธนาคารในประเทศนั้นๆให้ออกเช็คเดินทางใบใหม่ทดแทน ทุกครั้งที่ซื้อเช็คเดินทาง ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจะมอบหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทเช็คเดินทางไว้กับผู้ซื้อเช็คเดินทาง เพื่อนำไปใช้ติดต่อเมื่อมีปัญหาการใช้เช็คเดินทางในต่างประเทศ

อนึ่ง การนำเช็คเดินทางไปขึ้นเป็นเงินสดกับธนาคารในต่างประเทศนั้น ธนาคารบางแห่งหักค่าธรรมเนียมขึ้นเช็คเดินทางจำนวน 5 เหรียญ บางแห่งไม่หักค่าธรรมเนียมใดๆเลย ดังนั้น ถ้าเช็คเดินทางมีมูลค่า 100 US$  ผู้นำเช็คเดินทางไปขึ้นกับธนาคารควรจะสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารนั้นๆก่อนขึ้นเช็คเดินทางเป็นเงินสดว่า มีค่าธรรมเนียมในการขึ้นเช็คเดินทางหรือไม่ ถ้ามี คิดค่าธรรมเนียมจำนวนเท่าไร อาจสอบถามประมาณ 2-3 ธนาคารเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกว่า ควรนำเช็คเดินทางไปขึ้นเป็นเงินสดกับธนาคารใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเช็คเดินทางไปชำระเป็นค่าซื้อสินค้า เช่น ต้องการซื้อเสื้อ 1 ตัวในราคา 105  US$  ผู้ซื้อได้ชำระเป็นเช็คเดินทางใบละ 100 เหรียญจำนวน  2 ใบเท่ากับ 200 เหรียญ จะได้รับเงินทอนออกมาเป็น 95 เหรียญ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้เช็คเดินทางบางท่านที่ต้องการเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการขึ้นเช็คเดินทางเป็นเงินสดก็สามารถใช้วิธีการนำเช็คเดินทางไปซื้อสินค้าได้ เพราะจะได้รับเงินทอนกลับคืนมาเหมือนกับการชำระด้วยเงินสดทุกประการ

นักศึกษาสามารถค้นหารูปภาพเกี่ยวกับเช็คเดินทางได้จาก http://www.google.com

3. เงินสด (Cash) ประกอบด้วย ธนบัตร (Notes) และ เหรียญ(Coins) ใช้ง่าย สะดวก แต่ต้องระวังการสูญหาย ปกติอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสดจะสูงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Traveller’s Check หรือ Bank Draft เล็กน้อย ผู้ซื้อควรระมัดระวังธนบัตรปลอม ซึ่งมีแพร่หลายและตรวจสอบได้ยาก ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจะให้บริการแลกเงินสดในรูปธนบัตรอย่างเดียว ไม่มีเหรียญให้แลกที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย นักศึกษาสามารถขอแลกเหรียญได้ เช่น ที่บริเวณธนาคารในสนามบินในต่างประเทศเช่น ที่ธนาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบินในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือตู้แลกเงินตามสนามบินใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา

4. บัตรเครดิต Credit Card) บัตรเครดิตที่สามารถนำไปใช้ได้ต้องเป็นบัตรเครดิตระหว่างประเทศ ซึ่งมีของหลายบริษัท อาทิ  Visa, Master, American Express และอื่นๆ ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถนำบัตรเครดิตไปใช้ชำระเป็นค่าสินค้า และค่าบริการต่างๆ โดยบริษัทบัตรจะเรียกเก็บเงินจากเจ้าของบัตรภายหลัง นักเรียน นักศึกษา สามารถสมัครเป็นบัตรเสริมของผู้ปกครองซึ่งถือบัตรหลัก บริษัทบัตรเครดิตแต่ละแห่งให้วงเงินใช้จ่าย และคิดค่าธรรมเนียมต่างกันไป โปรดติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการมีบัตรเครดิต

อนึ่ง ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถกดเงินสดออกมาใช้ได้ แต่บริษัทผู้ออกบัตรจะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ในการถอนเงินสูงกว่าบัตร ATM ทั่วไป จึงไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิต 

หากนักศึกษาจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันธนาคารในประเทศสหรัฐฯไม่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติมีบัตรเครดิตได้ หากนักศึกษาไม่มี Social Security Number ซึ่งโดยปกตินักศึกษาต่างชาติจะไม่มี Social Security Number อยู่แล้ว ยกเว้นนักศึกษาจะทำงาน on campus จึงจะสามารถมี Social Security Number ได้ บางธนาคารอนุญาตให้นักศึกษามีบัตรเครดิตได้ แต่จะจำกัดวงเงินในระดับไม่มากให้นักศึกษาใช้ก่อน แล้วนักศึกษาจะค่อยๆสร้างเครดิตจนสามารถมีวงเงินในบัตรเครดิตได้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น  ธนาคาร Capital One มีบริการให้ผู้ที่ยังไม่มี Social Security Number ได้สร้างและสะสมเครดิตของตนเองได้ โดยนักศึกษาสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดการให้บริการของ Capital One ในเมืองและรัฐที่ตนมีอยู่ (ข้อสังเกต: อาจไม่มีธนาคารชื่อ Capital One ตั้งอยู่ในทุกรัฐ นักศึกษาอาจจะลองหาดูว่า มีธนาคารแห่งใดอีกบ้างไหมที่มีนโยบายใกล้เคียงกับธนาคาร Capital One ออกมา) เว็บไซต์ของธนาคาร Capital Oneคือ

http://www.capitalone.com/creditcards/products/browse-all/student/?linkid=WWW_1010_CARD_A7EBF_CCMAIN_L1_06_T_CCBRWSTU

ดังนั้นการที่ผู้ปกครองบางท่านทำบัตรเครดิตเสริมให้ลูกที่ไปศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาโทขึ้นไป ก็จะมีส่วนช่วยให้ลูกสามารถมีบัตรเครดิตใช้ติดต่อบางธุรกิจในสหรัฐฯได้ เช่น การชำระค่าเล่าเรียนของบางมหาวิทยาลัยด้วยบัตรเครดิต,การชำระค่าโรงแรมเมื่อเวลาลูกเดินทางไปท่องเที่ยว, การชำระค่ารถเช่า ฯลฯ

5. บัตร ATM ระหว่างประเทศ แต่ละธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยอาจจะมีชื่อเรียกบัตร ATM ระหว่างประเทศของธนาคารแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่บัตร ATM ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆในประเทศไทยสามารถใช้เบิกเงินสดได้จากเครื่อง ATM ของธนาคาร ATM Pool และ ATM ในเครือข่าย VISA ที่มีเครื่องหมาย PLUS และ VISA ELECTRON ทั่วโลก และยังใช้ชำระค่าสินค้า และบริการได้มากมายทั้งในและต่างประเทศ จากร้านและสถานบริการที่มีเครื่องหมาย VISA ELECTRON ผู้ใช้สามารถกดเงินสดจากเครื่อง ATM หรือใช้จ่ายผ่านบัตรได้ในวงเงิน 200,000บาทต่อวัน โดยเสียค่ากดครั้งละ 100 บาทต่อครั้ง บางธนาคารใช้บัตร ATM กดจากตู้ที่มีเครื่องหมาย Cirrus

หมายเหตุ : การใช้บัตร ATM ที่นำไปจากประเทศไทยไปกดจากตู้ ATM ในต่างประเทศ ธนาคารจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากในประเทศไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ตามวัน และ เวลา ที่หักเงินจากบัญชี นอกจากนี้ ธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกาจะหักเงินค่า Withdraw fee ออกอีก 2 เหรียญบ้าง 3 เหรียญบ้าง และ 5 เหรียญบ้าง ซึ่งบางธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้เหตุผลว่า เป็นค่าความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารในต่างประเทศคิดมา หรือบางธนาคารให้เหตุผลว่า เป็นอัตราแลกเปลี่ยนกลางของบริษัทบัตร Visa บวกเพิ่มอัตราแลกเปลียนไม่เกิน 2.5 % ดังตัวอย่างสลิปการกดเงินจำนวน 800 ดอลลาร์สหรัฐจาก Bank of America ในเมือง Irvine ในรัฐ California   Bank of America คิดค่าธรรมเนียมในการถอนเงินจำนวน 3 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่ออัพเดทบุ๊คบัญชีเงินฝากในประเทศไทยจำนวน 3 ดอลลาร์สหรัฐจะถูกคิดรวมไปกับยอดจำนวนที่กดเงินออกมา 800 เหรียญ โดยหากนำยอดเงินบาทในบัญชีที่มี ATM มาหารด้วยอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่กด จะได้ตัวเลขเป็น 803 เหรียญ  ส่วนบรรทัดถัดมาในบุีคบัญชีเงินฝากในประเทศไทยจะใส่ค่าธรรมเนียมในการกดเงิน (Fee) ไว้จำนวน 100 บาท ดังนั้นคำถามของนักศึกษาบางท่านที่สงสัยว่า จำนวนเงิน 3 US$ นีั้นคือค่ากด 100 บาทตามที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศแจ้งไว้ใช่หรือไม่ คำตอบจึงไม่ใช่ค่ากดเงินจำนวน 100 บาทในประเทศไทย

สรุปข้อสังเกต

  • การกดเงินจากตู้ ATM ในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาควรลองกดเงินจำนวนน้อยดูก่อน เพราะการที่จะกดครั้งเดียว 3,000 เหรียญ อาจไม่มีเงินออกมาจากตู้ ATM  นักศึกษาอาจจะต้องกดหลายครั้ง ตู้ ATM ในแต่ละเมืองและแต่ละรัฐมีจำนวนเงินขั้นต่ำที่อนุญาตให้กดได้ไม่เท่ากัน นักศึกษาอาจสอบถามประสบการณ์จากเพื่อนนักศึกษาในเมืองเดียวกัน หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ธนาคารในประเทศสหรัฐฯเวลาที่ไปเปิดบัญชีเงินฝากครั้งแรก อนึ่ง การเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ ธนาคารต้องการให้นักศึกษาเปิดบัญชีทั้งออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ (Savings) และบัญชีใช้เช็ค (Checking Account ) เพื่อป้องกันการเสียหายทางการเงินจากมิจฉาชีพ ดังนั้น บัตร ATM จากธนาคารในประเทศสหรัฐฯจะผูกติดกับบัญชีใช้เช็ค ธนาคารในบางรัฐมีเงื่อนไขกำหนดการกดเงินในแต่ละครั้งได้ครั้งละไม่เกิน 500 เหรียญ และจะกดได้กี่ครั้งต่อวัน  ดังนั้น หากมีผู้ขโมยบัตรนักศึกษาไปใช้และจะกดจำนวนเงินมากกว่าจำนวนครั้งที่ได้รับอนุญาต ก็จะกดเงินออกมาใช้ไม่ได้ เป็นต้น
  • หากนักศึกษาใช้บัตร ATM ของธนาคารในประเทศสหรัฐฯ นักศึกษาจะไม่ถูกหักค่าธรรมเนียมจำนวน 2, 3, 5 เหรียญดังกล่าว ยกเว้นนักศึกษาไปกดตู้ ATM ของธนาคารอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารที่ตนมีบัญชีเงินฝากอยู่ หลักการดังกล่าวไม่ต่างจากการกดตู้ ATM ในประเทศไทย ที่นักศึกษานำบัตร ATM ของธนาคารแห่งหนึ่งไปกดจากตู้ ATM ของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง ก็จะถูกคิดค่าบริการในการกดด้วย
  • นักศึกษาที่ไม่มั่นใจในการกดตู้ ATM ในต่างประเทศ ให้นักศึกษาลองหัดกดตู้ ATM ในประเทศไทย โดยเลือกใช้คำสั่งหรือเมนูเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกทักษะความเข้าใจว่าควรจะกดอย่างไรเพื่อให้เงินออกมา คำสั่งที่มีอยู่ในตู้ ATM ในต่างประเทศกับตู้ ATM ในประเทศไทยมีความละม้ายคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก เพียงแต่ตู้ ATM ในต่างประเทศบางเมืองบางรัฐอาจจะรวมการฝากเงินสดและเช็คไว้ในตู้กด ATM ที่ใช้ในการถอนเงินเป็นตู้เดียวกันด้วยก็ได้ นักศึกษาควรมีความรู้ว่าบัตร ATM ที่ทำจากประเทศไทยไปเป็นบัตร ATM ที่มีอยู่กับบัญชีเงินฝากประเภท Savings ในขณะที่บัตร ATM ที่ทำในต่างประเทศนั้นอาจจะผูกติดกับบัญชีเงินฝากประเภท Checking ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคารในต่างประเทศ

Copyright © 2010 GoVisa All rights reserved.